Power10
โครงการวิทยาศาสาตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา
วิทยาศาสตร์พลังสิบ คืออะไร
ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาประเทศ ประกอบกับนักเรียนที่ต้องการทำงานเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมมีน้อย* ดังนั้น ครูและบุคลากรทางการศึกษามีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และเต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตาม การศึกษาของไทยยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับกระบวนการสอนของครู เช่น ความเข้าใจในเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง ทักษะกระบวนการจัดการเรียนรู้และวิธีการสอนที่เน้นเนื้อหาคำตอบมากกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่คำตอบ เป็นต้น รวมถึงหลักสูตรที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ นักเรียน จึงไม่ได้รับการพัฒนาสมรรถนะเท่าที่ควร ส่งผลให้นักเรียนขาดทักษะการคิดขั้นสูง เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ และไม่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ หลายโรงเรียนยังขาดความพร้อมทาง ด้านห้องเรียน วัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาต่อคุณภาพการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างเร่งด่วน
ความร่วมมือระหว่าง สพฐ. สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดทำโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี [ระดับประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6) และระดับมัธยมศึกษา (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6)] ผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน ระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี (ปีการศึกษา 2564 – 2573)
หลักสูตรวิทยาศาสตร์พลังสิบมีมาตรฐานและคุณภาพ สามารถเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยปรับรายวิชาเพิ่มเติมเน้นสมรรถนะผู้เรียนเป็นฐาน เพื่อเน้นบูรณาการความรู้ ลดความซ้ำซ้อนในการจัดรายวิชา เน้นทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้และ สร้างกระบวนการคิดได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมทักษะการคิดแก้ปัญหาและการคิดอย่างสร้างสรรค์
พัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ให้มีคุณภาพและมีศักยภาพ เป็นโรงเรียนศูนย์ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (โรงเรียนศูนย์ฝึกอบรมฯ) จำนวน 200 โรงเรียน (แบ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 100 โรงเรียน และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 100 โรงเรียน) เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่โรงเรียนเครือข่าย อีกจำนวน 2,000 โรงเรียน (แบ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 1,000 โรงเรียน และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1,000 โรงเรียน) (อัตราส่วนโรงเรียนศูนย์ฝึกอบรม : โรงเรียนเครือข่าย คือ 1 : 10) รวมจำนวนโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 2,200 โรงเรียน
พัฒนาครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยการฝึกอบรมและพัฒนาตนเองทางความรู้ ทักษะ และประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง มากกว่า 10,000 คน/ปี รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรโครงการด้วย
พัฒนานักเรียนที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพ มากกว่า 100,000 คน/ปี/ระดับชั้น
ให้นิสิตนักศึกษา ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนที่ร่วมโครงการ ให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ตามแนวโครงการฯ
…………………..